สรรพคุณของไทรย้อย
- รากไทรย้อยมีสรรพคุณเป็นยาแก้กาฬโลหิต
- รากอากาศมีสรรพคุณบำรุงโลหิต แก้ตกโลหิต
- รากใช้เป็นยาแก้กระษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม ปวดเมื่อย โลหิตจาง)
- รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะให้คล่อง แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะมีสีต่าง ๆ
- ช่วยแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะที่มีปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานไม่ได้ร่วมด้วย)
- ช่วยแก้อาการอักเสบหรือลดการติดเชื้อ เช่น ฝีหรือรอยฟกช้ำ
- ตำรายาไทยจะใช้รากไทรย้อยใน “พิกัดตรีธารทิพย์” (ประกอบไปด้วยรากไทรย้อย รากราชพฤกษ์ และรากมะขามเทศ) มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนม แก้กษัย แก้ท้องร่วง ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด
ประโยชน์ของไทรย้อย
- ในป่าธรรมชาติ ต้นไทรนับเป็นที่อยู่อาศัย และผลยังเป็นแหล่งอาหารชั้นยอดของสัตว์ป่าหลายชนิด เพราะต้นไทรมีลำต้นแผ่กว้าง เต็มไปด้วยหลืบโพรง ทั้งนกนานาชนิด กระรอก ชะนี ลิง หรือแม้แต่สัตว์ใหญ่อย่าง เก้ง กวาง หมูป่า ฯลฯ ต่างก็ชอบรับประทานผลของมัน อีกทั้งต้นไทรแต่ละต้นก็ติดผลในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้ในป่าใหญ่ที่มีต้นไทรมาก ๆ จะมีผลไทรสุกไว้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เหล่านี้ได้ตลอดทั้งปี จึงช่วยทำให้เกิดสมดุลต่อระบบนิเวศทั้งในป่าและในเมืองที่ปลูก
- รากอากาศสามารถนำมาพันเป็นวงกลมเพื่อประดับดอกไม้แห้งเป็นพวงมาลาได้
- ต้นไทรย้อยนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีทรงพุ่มแผ่กว้างให้ร่มเงาได้ดี ต้องมีเนื้อที่ในการปลูกพอสมควร แต่ในปัจจุบันวงการไม้ประดับได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะย่อส่วนต้นไม้ให้มีขนาดเล็กลง การนำไม้ป่าทั้งหลายรวมทั้งไทรย้อยมาปลูกเป็นไม้ประดับจึงสะดวกมากขึ้น
- ด้วยความที่ตัวพุ่มของต้นไทรย้อยเป็นพุ่มแน่นทึบ ประกอบไปด้วยใบไม้เรียงซ้อนกันหลายชั้น จึงช่วยกั้นแสงแดดหรือช่วยดูดแสงแดดร้อนจัดในยามกลางวันได้ อีกทั้งพุ่มใบที่แน่นทึบยังช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอก ช่วยดูดซับควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์และฝุ่นละอองได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะอย่างยิ่งในการนำมาปลูกไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม สถานที่ราชการ โรงแรม หรือแม้กระทั่งริมถนนและเกาะกลางถนน นอกจากนี้แล้วข้อดีอีกอย่างหนึ่งของต้นไทรย้อยก็คือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความแข็งแรง ทนทาน ง่ายต่อการดูแลรักษา ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน และสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทั่วไปอีกด้วย
- คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นไทรไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังช่วยคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ทั้งปวงด้วย เพราะมีความเชื่อว่าต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพารักษ์อาศัยอยู่ จึงช่วยคอยคุ้มครองพิทักษ์คนในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและปลอดภัย แต่สำหรับบางคนก็เชื่อว่า ไม่ควรนำต้นไทรมาปลูกไว้ในบ้าน ไม่ใช่เพราะต้นไทรจะนำเรื่องร้ายเข้ามาในบ้านแต่อย่างใด แต่ด้วยเชื่อกันว่า ต้นไทรนั้นมีเทวดาสถิตอยู่ จึงอาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาปลูก แต่ที่แน่ ๆ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นไทรนั้นมีรากเยอะ มีรากย้อยลงมาอาจดูเกะกะ มีนกมาถ่ายมูลเรี่ยราด รากจะแทงเข้าพื้นดินและแตกแยกออกไปโดยรอบ ทำให้สิ่งก่อสร้างบ้านเรือนหรือคอนกรีตเกิดการแตกร้าวและพังทลายได้ แถมบริเวณที่ปลูกต้นไทรก็ไม่สามารถปลูกไม้ชนิดอื่นได้เลย เพราะจะถูกรากไทรแย่งอาหารไปจนหมด แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวมาว่า ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาย่อส่วนต้นไทรให้มีขนาดเล็กลงแล้ว จึงสามารถนำมาปลูกในบ้านหรือสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ไทรย้อย”. หน้า 384.
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ไทรย้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [03 ธ.ค. 2014].
ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ไทรย้อยใบแหลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/. [03 ธ.ค. 2014].
Saunmitpranee. “ต้นไทร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saunmitpranee.com. [03 ธ.ค. 2014].
หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 530, วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2555. (ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา). “ไทรย้อยใบแหลม พันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคล : กรุงเทพมหานคร”.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ไทรย้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [03 ธ.ค. 2014].