พลูคาวเป็นไม้ล้มลุก อายุ 2 – 4 ปี สูง 15-40 เซนติเมตร ทั้งต้นมีกลิ่นคาวคล้ายกลิ่นคาวปลา ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปหัวใจ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3.5 เซนติเมตร ก้านใบส่วนโคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น หูใบอยู่ติดกับก้านใบ ดอกช่อออกที่ปลายยอด มีใบประดับสีขาวคล้ายกลีบดอก 4 กลีบ ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็กสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแตกได้
สรรพคุณของพลูคาว
- แพทย์ตามชนบทใช้ใบพลูคาวปรุงเป็นยาแก้กามโรค แก้เข้าข้อออกดอก (หมายถึง โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 เชื้อซิฟิลิสจะเข้าไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายและเข้าไปสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย เรียกว่า “ออกดอก” ระยะนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้โดยง่าย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีผื่นขึ้น แต่มีอาการปวดเมื่อยตามข้อ จึงเรียกว่า “เข้าข้อ”) โดยนำพลูคาวทั้งต้นมาต้มเคี่ยวจนน้ำงวด แล้วรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อ
- แก้โรคผิวหนังทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย ทำให้น้ำเหลืองแห้ง ให้แผลแห้ง แก้แผลเปื่อย โดยนำพลูคาวทั้งต้นมาต้มเคี่ยวจนน้ำงวด แล้วรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อเช่นกัน
- แก้โรคเรื้อน มะเร็งคุดทะราด (หมายถึง โรคเรื้อน หรือโรคเรื้อรังที่มีแผลตามผิวหนัง เริ่มจากขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆคล้ายหูดขึ้นทั่วตัว แล้วขยายขนาดขึ้นเป็นตุ่มนูนแดง หรือโตคล้ายดอกกะหล่ำปลี ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในบริเวณใกล้แผลจะอักเสบและบวมโต ในระยะแรกผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการไข้ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา จะมีการทำลายของผิวหนังและกระดูก ทำให้เกิดความพิการ) โดยนำพลูคาวทั้งต้นมาต้มเคี่ยวจนน้ำงวด แล้วรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อเช่นกัน
- ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ขับระดูขาว (ตกขาว) รักษาฝีหนองในปอด โดยนำพลูคาวทั้งต้น มาต้มในน้ำแค่พอเดือด รับประทานแทนน้ำเปล่า เมื่ออาการดีขึ้น ให้รับประทานน้ำเปล่าเช่นเดิม
- นิยมให้ผู้หญิงหลังคลอดบุตรรับประทานเป็นอาหารเพื่อเป็นการบำรุงร่างกายและโลหิต